Marat, Jean Paul (1743-1793)

นายชอง ปอล มารา (๒๒๘๖-๒๓๓๖)

​​​     ชอง ปอล มารา เป็นนักปฏิวัติชาวฝรั่งเศสที่สนับสนุนพวกชาโกแบง (Jacobin) หัวรุนแรงที่เรียกว่ากลุ่มมงตาญญาร์ (Montagnard) หรือกลุ่มภูเขา (Mountain) ในสภากงวองซิยง (Convention) เขาเป็นศัตรูของทุกคนที่ต่อต้านการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙ (French Revolution of 1789)* มารามีบทบาทสำคัญในการปลุกระดมชาวปารีสหัวรุนแรงที่เรียกว่าพวกซองกูลอต (sans-culottes) ให้ตื่นตัวทางการเมืองเพื่อต่อต้านพวกอภิสิทธิ์ชน เขาถูกชาร์ลอต กอร์เด (Charlott Corday) ซึ่งเป็นพวกชีรงแด็ง (Girondins) หัวอนุรักษ์สังหารเขาที่บ้านในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๗๙๓


     มาราเกิดในครอบครัวยากจนเมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๗๔๓ ที่เมืองบูดรี (Boudry) ใกล้เมืองเนอชาเตล (Neuchêtel) สวิตเซอร์แลนด์ บิดาเป็นช่างออกแบบ ส่วนมารดาเป็นชาวสวิสที่นับถือคริสต์ศาสนานิกายโปรเตสแตนต์ ประวัติชีวิตวัยเยาว์ของเขา คลุมเคลือและมีหลักฐานเพียงว่า หลังมารดาเสียชีวิตมาราเริ่มหาเลี้ยงชีพตั้งแต่อายุ ๑๖ ปีและเดินทางไปตามเมืองต่าง ๆ และเรียนวิชาแพทย์ที่เมืองบอร์โด (Bordeaux) ๒ ปีก่อนไปกรุงปารีส ฮอลแลนด์ และในที่สุดไปถึงกรุงลอนดอนใน ค.ศ. ๑๗๖๕ ณ ที่นั้น เขาได้ศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์และการแพทย์จนกลายเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่มีชื่อเสียง ต่อมาเขาเริ่มสนใจวิชาปรัชญาด้วยเขาเขียนบทความและหนังสือหลายเล่มซึ่งเป็นที่นิยมใน อังกฤษแต่ในฝรั่งเศสไม่มีใครรู้จักงานของเขามากนัก ในช่วงทศวรรษ ๑๗๗๐ เขาพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และปรัชญาหลายเล่ม เช่น Essay on the HumanSoul ( ค.ศ. ๑๗๗๑) ซึ่งแทบไม่ประสบความสำเร็จ แต่หนังสือเล่มต่อมาเรื่อง A Philosophical Essay on Man ( ค.ศ. ๑๗๗๓) ซึ่งได้รับการถ่ายทอดเป็นภาษาฝรั่งเศสโดยจัดพิมพ์ที่ กรุงอัมสเตอร์ดัมระหว่าง ค.ศ. ๑๗๗๕-๑๗๗๖ แม้จะถูกฟรองซัว-มารี อารูเอ วอลแตร์ (François-Marie Arouet Voltaire) วิจารณ์โจมตีแต่ก็ประสบความสำเร็จอย่างมาก นอกจากนี้ The Chain of Slavery ( ค.ศ. ๑๗๗๔) เป็นหนังสือการเมืองเรื่องแรกของเขาที่เขียนต่อต้านการปกครองที่ผู้ปกครองมีอำนาจสูงสุดเพียงผู้เดียว มาราได้กล่าวถึง "ชนชั้นสูง" และ "ราชสำนัก" ซึ่งเนื้อหาดังกล่าวได้กลายเป็นหัวข้อหลักที่สำคัญในการแสดงสุนทรพจน์และการเขียนบทความในเวลาต่อมาด้วย
     ใน ค.ศ. ๑๗๗๗ มาราเดินทางกลับฝรั่งเศสและได้เป็นแพทย์ประจำกองทหารรักษาพระองค์ของกงต์ดาร์ตัว [ (Comte d’ Artois) ซึ่งต่อมาคือพระเจ้าชาร์ลที่ ๑๐ (Charles X ค.ศ. ๑๘๒๔-๑๘๓๐)*] พระ อนุชาองค์เล็กของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ (Louis XVI ค.ศ. ๑๗๗๔-๑๗๙๒)* ในช่วงเวลานั้น มาราพยายามสร้างชื่อเสียงให้ตนเองในฐานะนักวิทยาศาสตร์โดยเขียนบทความการทดลองด้านวิทยาศาสตร์หลายเรื่องซึ่งส่วนใหญ่จะเน้นเนื้อหาเกี่ยวกับไฟ ไฟฟ้า และแสง ใน ค.ศ. ๑๗๘๓ บทความเกี่ยวกับไฟฟ้าของเขาก็ได้รับรางวัลจากราชบัณฑิตยสถานแห่งเมืองรูออง (Royal Academy of Rouen) ในปีเดียวกัน เขาเลิกอาชีพแพทย์และหันมาทุ่มเททำงานด้านวิทยาศาสตร์อย่างเต็มที่เพื่อสร้างชื่อเสียงให้แก่ตนเองแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จตามที่คาดหวัง นอกจากนี้ งานเขียนเรื่อง Plan for Criminal Legislation ที่เสนอแนะการปรับปรุงกฎหมายอาญากลับถูกห้ามพิมพ์เผยแพร่ซึ่งทำให้มารารู้สึกขมขื่นและเริ่มไม่พอใจกับระบบสังคมที่ ดำรงอยู่ในขณะนั้น การที่เขาซึมซับแนวความคิดการวิพากษ์โจมตีระบอบเก่า (ancient regime) ของชาร์ล-ลุย เดอ เซอกงดา บารง เดอ ลาแบรด เอ เดอ มงเตสกีเยอ (Charle-Louis de Secondat, Baron de La Brède et de Montesquieu) ชอง ชาก รูโซ (Jean-Jacques Rousseau) และติดต่อสื่อสารกับเบนจามิน แฟรงกลิน (Benjamin Franklin) ผู้นำคนหนึ่งของการปฏิวัติอเมริกันก็อาจมีส่วนทำให้มารามีทัศนคติด้านลบต่อระบบสังคมฝรั่งเศสด้วยนอกจากนี้ การที่เขาไม่ได้รับเลือกเป็นสมาชิกราชสภาวิทยาศาสตร์ (Académie des Sciences) ก็ทำให้เขาโกรธแค้นและชิงชังสถาบันแห่งอำนาจมากขึ้น เพราะมาราเชื่อมั่นอย่างมากว่าผลงานด้านวิทยาศาสตร์ของเขาโดดเด่นและดีเยี่ยมซึ่งจะสร้างชื่อให้เขายิ่งใหญ่กว่าเซอร์ไอแซก นิวตัน (Sir Isaac Newton) ด้วยซ้ำ เขาจึงรู้สึกว่ากำลังถูกกลั่นแกล้ง และตกเป็นเหยื่อของศัตรูผู้ทรงอำนาจอยู่เบื้องหลัง
     ความไม่พอใจที่ฝังลึกนี้ทำให้มาราเข้าร่วมกลุ่มกับพวกต่อต้านสังคม เมื่อเกิดเหตุการณ์การทลายคุกบาสตีย์ (Fall of the Bastille)* ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติฝรั่งเศสในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๗๘๙ มารามีอายุเกือบ ๕๐ ปีแล้ว เขาพิมพ์จุลสารเรื่อง "Offering to Our Country" ซึ่งเสนอความเห็นว่า กษัตริย์ยังคงสามารถแก้ปัญหาของประเทศได้ และอีก ๒-๓ เดือน ต่อมา เขาได้พิมพ์เอกสารเพิ่มเติมความคิดเห็นครั้งแรกว่าเหตุที่กษัตริย์ไม่ทรงแก้ปัญหาได้ก็เพราะทรงสนพระทัยแต่เรื่องปัญหาการเงินของพระองค์เองจนทรงละเลยความต้องการของประชาชน มารายังเขียนโจมตีฝ่ายที่ ต้องการให้นำระบอบรัฐสภาแบบอังกฤษมาใช้ในฝรั่งเศสด้วย
     ในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๗๘๙ มาราเริ่มเขียนวิพากษ์โจมตีสถาบันกษัตริย์มากขึ้นในหนังสือพิมพ์ The Friend of the People ซึ่งเขาเป็นบรรณาธิการ ในช่วงเวลาอันสั้นเขาก็เป็นกระบอกเสียงที่มีอิทธิพลของกลุ่มหัวรุนแรงที่เรียกร้องประชาธิปไตยและการเปลี่ยนแปลงเมื่อเกิดเหตุการณ์จลาจลในเดือนตุลาคมที่สืบเนื่องจากการขาดแคลนอาหารในกรุงปารีส และข่าวเรื่องกองทหารรักษาพระองค์เหยียบย่ำโบปฏิวัติและหันมาใช้โบสีขาวของราชวงศ์บูร์บง (Bourbon)* แทน ประชาชนซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงจึงเดินขบวนไปพระราชวังแวร์ซาย (Versailles) เรียกร้องให้พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ และสมเด็จพระราชินีมารี อองตัวแนต (Marie Antoinette ค.ศ. ๑๗๕๕-๑๗๙๓)* เสด็จกลับเข้ากรุงปารีส มาราและ ชอร์ช ชาก ดองตง (Georges-Jacques Danton)* ร่วมกันปลุกระดมประชาชนให้เข้าร่วมเดินขบวนไปพระราชวังแวร์ซาย เขายังเรียกร้องให้ใช้มาตรการรุนแรงกับพวกชนชั้นสูงที่เป็นผู้วางแผนทำลายการปฏิวัติ และเน้นความจำเป็นของการใช้กำลังทหารกวาดล้างศัตรูของการปฏิวัติทุกคนโดยไม่เลือกหน้า เขาสนับสนุนและปกป้องสิทธิของชนชั้นระดับล่าง ซึ่งทำให้เขาเป็นที่นิยมชมชอบในหมู่ประชาชน ในขณะที่ฝ่ายตรงข้ามเห็นเขาเป็นเหมือนสัตว์ร้ายที่กระหายเลือด ในต้น ค.ศ ๑๗๙๐ มาราเขียนบทความโจมตีชาก เนแกร์ (Jacques Necker) เสนาบดีคลังอย่างรุนแรงซึ่งมีผลทำให้เขาถูกจับกุมและถูกบังคับให้ลี้ภัยไปอังกฤษ
     อย่างไรก็ตาม เขาอยู่อังกฤษได้เพียง ๓ เดือน ก็เดินทางกลับประเทศแต่ชื่อเสียงและบทบาททางการเมืองที่ผ่านมาของเขามีส่วนทำให้เขาได้รับการคุ้มครองและช่วยเหลือจากประชาชนมากขึ้น มารามีความคิดเห็นที่รุนแรงยิ่งขึ้น เขาวิพากษ์โจมตีทุกคนที่เขาสงสัยว่าเป็นศัตรูของการปฏิวัติ ซึ่งรวมถึงนักปฏิวัติสายกลาง เช่น มาร์กี เดอ ลาฟาแยต (Marquis de Lafayette)* กงต์ เดอ มีราโบ (Comte de Mirabeau) และชอง ซิลแวง เบยี (Jean-Sylvain Bailly) เป็นต้น เขายังเตือนให้ระวังพวกขุนนางที่ อพยพออกนอกประเทศ (émigré) ว่ากลุ่มคนเหล่านี้กำลังเคลื่อนไหววางแผนต่อต้านการปฏิวัติด้วยการเรียกร้องให้ประมุขของประเทศยุโรปต่าง ๆ เข้าแทรกแซงเพื่อกอบกู้สถานะของกษัตริย์ฝรั่งเศส การวิพากษ์โจมตีของมาราทำให้เขาถูกลอบทำร้ายและถูกจับกุมหลายครั้ง เขาต้องหลบซ่อนตัวตามที่ต่าง ๆ รวมทั้งในท่อโสโครกซึ่งทำให้เขาเป็นโรคผิวหนังและสุขภาพของเขาก็ย่ำแย่ลง ในปลาย ค.ศ. ๑๗๙๑ เขาหนีไปอังกฤษอีกครั้งหนึ่ง และกลับเข้าประเทศอีกครั้งเมื่อเกิดสงครามการปฏิวัติฝรั่งเศส (French Revolutionary Wars ค.ศ. ๑๗๙๒-๑๗๙๙)*
     เมื่อพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ พร้อมพระราชวงศ์ได้เสด็จหนีจากกรุงปารีสเมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน ค.ศ. ๑๗๙๑ และถูกจับที่เมืองวาแรน (Varennes) การเสด็จหนีครั้งนี้ทำให้ความนิยมในกษัตริย์เสื่อมลงและมีการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้จัดตั้งสาธารณรัฐฝรั่งเศสขึ้นออสเตรียกับปรัสเซียจึงประกาศที่จะกอบกู้พระเกียรติยศของกษัตริย์ด้วยการทำสงครามกับรัฐบาลปฏิวัติของฝรั่งเศส แต่สภานิติบัญญัติซึ่งมีพรรคชีรงแด็งเป็นเสียงส่วนใหญ่ได้ประกาศสงครามกับออสเตรียก่อนในวันที่ ๒๐ เมษายน ค.ศ ๑๗๙๒ เพราะเชื่อมั่นว่าสงครามจะทำให้พลังของการปฏิวัติเข้มแข็งขึ้น มาราซึ่งกลับมาฝรั่งเศสในกลาง ค.ศ. ๑๗๙๒ ต่อต้านการทำสงครามเต็มที่และคาดการณ์ว่าสงครามจะเป็นอันตรายต่อการปฏิวัติมากกว่าเป็นผลดี เขาเสนอความคิดว่าฝรั่งเศสควรมีการปกครองแบบเผด็จการชั่วคราวเพื่อจัดการกับสถานการณ์ฉุกเฉิน ผลก็คือ เขาถูกตามล่าตัวมาลงโทษจนต้องหลบซ่อนตัวอีกครั้ง
     อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์ของมาราเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ในเดือนสิงหาคมกองทัพปรัสเซียรุกเข้ามาจนเกือบถึงเมืองแวร์เดิง (Verdun) ซึ่งเป็นที่มั่นสำคัญก่อนบุกเข้าสู่กรุงปารีส ชาวฝรั่งเศสเริ่มหวาดวิตกว่ากรุงปารีสจะเป็นอันตราย พวกซองกูลอตจึงอาสาป้องกันปารีสและการปฏิวัติด้วยการเดินขบวนไปที่พระราชวังตุยเลอรี (Tuileries) เกิดการปะทะกันขึ้นในวันที่ ๑๐ สิงหาคม ทหารรักษาการณ์ชาวสวิส ๑,๐๐๐ คน ถูกสังหารถึง ๖๐๐ คน พวกซองกูลอตถูกสังหารประมาณ ๓๐๐ คน ฝูงชนบังคับให้มีการจัดตั้งคอมมูนปฏิวัติชุดใหม่และกักบริเวณพระเจ้าหลุยส์กับพระราชวงศ์ที่เรือนจำตองเปลอ (Temple)
     คอมมูนประกาศปลุกระดมให้ประชาชนช่วยกันขับไล่ศัตรูต่างชาติ ระหว่างวันที่ ๒-๗ กันยายน มีการสังหารหมู่ผู้ต่อต้านการปฏิวัติซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนชั้นสูงและพระที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำต่าง ๆ ในกรุงปารีสประมาณ ๑,๔๐๐ คน เหตุการณ์นี้เรียกว่าการสังหารหมู่เดือนกันยายน (September Massacres) ต่อมาฝ่ายปฏิวัติเริ่มมีขวัญและกำลังใจดีขึ้นเมื่อทหารฝรั่งเศสสามารถเอาชนะทหารปรัสเซียในการรบที่วาลมี (Valmy) ในช่วงเวลาเดียวกันสภากงวองซิยงที่จัดตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญก็เปิดประชุมครั้งแรกในวันที่ ๒๐ กันยายน ค.ศ. ๑๗๙๒ และมีการประกาศยกเลิกระบอบกษัตริย์เปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐ ฝรั่งเศสจึงเข้าสู่สมัยสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ ๑ (First Republic of France)* มาราได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภากงวองซิยงด้วย สภานี้ประกอบด้วยพรรคการเมืองที่มีอิทธิพลตามลำดับ คือกลุ่มชีรงแด็ง พวกชาโกแบง และมงตาญาร์หรือกลุ่มภูเขามาราสนับสนุนกลุ่มหัวรุนแรงมงตาญาร์ เขาเสนอให้ลงโทษกษัตริย์และประหารพระองค์ในฐานะเป็นผู้ทรยศต่อชาติ
     พวกอนุรักษนิยมชีรงแด็งซึ่งเป็นสมาชิกส่วนใหญ่ในสภาโจมตีมาราว่าเป็นตัวการทำให้เกิดเหตุการณ์สังหารหมู่เดือนกันยายน ค.ศ. ๑๗๙๒ เพราะเขาจุดกระแสความรุนแรงด้วยการเขียนบทความเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ The Friend of the People กับการแสดง ปาฐกถาที่สโมสรปฏิวัติชาโกแบง (Jacobin Revolutionary Club) ที่มีส่วนปลุกเร้าความกระหายเลือดในหมู่สามัญชนชาวปารีสเป็นอย่างมากรวมถึงเรื่องการเสนอให้ดำเนินคดีพิจารณาความผิดของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ มาราจึงถูกพิจารณาคดีโดยศาลปฏิวัติแต่ก็ได้รับการตัดสินให้เป็นผู้บริสุทธิ์ซึ่งทำให้พวกชีรงแด็งเสียหน้าอย่างมาก พวกชีรงแด็งยังพยายามช่วยเหลือพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ ด้วยการเสนอให้มีการออกเสียงแบบเปิดเผยซึ่งหากชีรงแด็งชนะ มาราก็อาจถูกส่งตัวขึ้นศาลปฏิวัติ แต่ฝ่ายสนับสนุนการลงโทษกษัตริย์กลับชนะโดย ๓๖๑ เสียงจาก ๖๙๓ เสียงลงคะแนนให้ประหารพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ จึงถูกประหารด้วยกีโยตีน (guillotine) เมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม ค.ศ. ๑๗๙๓ ต่อมามาราและพวกชาโกแบงรวมทั้งซองกูลอตร่วมมือกันในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๗๙๓ ขับไล่ผู้แทนชีรงแด็งออกจากสภาและบังคับให้สมาชิกชีรงแด็งจำนวน ๒๙ คนเดินทางออกจากปารีส พวกมงตาญาร์ที่มีมาราเป็นผู้นำคนหนึ่งจึงกุมอำนาจเด็ดขาดในสภากงวองซิยง
     อย่างไรก็ตาม มาราก็ไม่ได้มีความสุขกับชัยชนะได้นานนัก เขาป่วยทรมานด้วยโรคผิวหนังซึ่งเริ่มเป็นตั้งแต่สมัยที่ต้องหลบซ่อนตัวและมีอาการรุนแรงมากขึ้นมาราต้องรักษาด้วยการทำธาราบำบัด บางครั้งถึงกับต้องไปนั่งแช่ในอ่างอาบน้ำและทำงานไปด้วย ที่ นั่นเองชาร์ลอต กอร์เด ผู้สนับสนุนชีรงแด็งจากนอร์มองดีซึ่งมีผู้พามายังห้องของมาราโดยเธออ้างว่าต้องการการคุ้มครองจากเขาได้ใช้มีดแทงมาราจนสิ้นใจในห้องน้ำตอนเย็นวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๗๙๓ ขณะอายุได้ ๕๐ ปี การเสียชีวิตของมาราเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับที่พวกมงตาญาร์กำลังมีชัยชนะเหนือฝ่ายตรงกันข้ามฝ่ายปฏิวัติจึงเห็นว่ามาราเป็นนักบุญแห่งการปฏิวัติผู้ไถ่บาปให้แก่ประชาชน เขาเป็นทั้ง "สหายของประชาชนและผู้สละชีวิตเพื่อเสรีภาพ" (Friend of the People and Martyr for Liberty) ต่อมาชาก-ลุยดาวิด (Jacques- Louis David) จิตรกรที่มีฝีมือได้วาดภาพการเสียชีวิตของมาราในอ่างอาบน้ำซึ่งกลายเป็นภาพวาดที่มีชื่อเสียงภาพหนึ่งในประวัติศาสตร์การปฏิวัติฝรั่งเศส หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* มีการนำงานเขียนที่คัดสรรของมารามารวมพิมพ์เผยแพร่เป็นครั้งแรกในชื่อว่า Textes choisis.



คำตั้ง
Marat, Jean Paul
คำเทียบ
นายชอง ปอล มารา
คำสำคัญ
- ดาวิด, ชาก-ลุย
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ ๑
- สงครามการปฏิวัติฝรั่งเศส
- แวร์เดิง, เมือง
- วาแรน, เมือง
- กลุ่มภูเขา
- กลุ่มมงตาญญาร์
- กอร์เด, ชาร์ลอต
- ตุยเลอรี, พระราชวัง
- การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙
- ซองกูลอต, พวก
- ชีรงแด็ง, พวก
- ชาโกแบง
- สภากงวองซิยง
- มารา, ชอง ปอล
- ชาร์ลที่ ๑๐, พระเจ้า
- ดาร์ตัว, กงต์
- ชาร์ล-ลุย เดอ เซอกงดา บารง เดอลาแบรด เอ เดอ มงเตสกีเยอ
- เนอชาเตล, เมือง
- บูดรี, เมือง
- วอลแตร์, ฟรองซัว-มารี อารูเอ
- บอร์โด, เมือง
- หลุยส์ที่ ๑๖, พระเจ้า
- การทลายคุกบาสตีย์
- ดองตง, ชอร์ช ชาก
- นิวตัน, เซอร์ไอแซก
- เนแกร์, ชาก
- เบยี, ชอง ซิลแวง
- บูร์บง, ราชวงศ์
- แฟรงกลิน, เบนจามิน
- มีราโบ, กงต์ เดอ
- รูโซ, ชอง ชาก
- มารี อองตัวแนต, สมเด็จพระราชินี
- ลาฟาแยต, มาร์กี เดอ
- แวร์ซาย, พระราชวัง
- การรบที่วาลมี
- การสังหารหมู่เดือนกันยายน
- ตองเปลอ, เรือนจำ
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1743-1793
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
๒๒๘๖-๒๓๓๖
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
อัธยา โกมลกาญจน
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 4.M 269-394.pdf